top of page

 

สับ ซอย หั่น หมัก ทอด ตุ๋น ต้ม นึ่ง การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้เกิดอาหารจานอร่อย ในดนตรี ทุกเสียงที่สร้าง ทุกการเคลื่อนไหวที่ขยับ นำไปสู่บทเพลงที่น่าอัศจรรย์ และเป็นอาหารของหูและใจที่สร้างความสุข เริ่มจากการที่ชอบเดินตลาด ดูวัตถุดิบต่างๆของอาหาร ดูวิธีการทำอาหารจากพ่อ เลยเกิดความหลงใหลในปฏิกิริยาการกลายร่างของวัตถุดิบแต่ละอย่างที่เข้ามารวมด้วยกัน

 

ลองนึกถึงไข่ฟองนึงกับน้ำมันพืชใครจะคิดว่าแค่ไข่ทอดในน้ำมันจะทำให้ไข่กลายร่างฟูฟ่องสวยงามพร้อมกับเสียงของน้ำมันที่กำลังพยุงไข่เจียว เสียงฟังดูก็ทำให้หิวได้ ถ้าเอาไข่ไปกรองใส่น้ำแล้วตุ๋นก็กลายเป็นไข่ตุ๋น และใส่ข้าวเข้าไปก็กลายเป็นข้าวผัดไข่ เห็นได้เลยว่าแค่ไข่ฟองเดียวก็เกิดเรื่องอัศจรรย์ได้ร้อยแปดเรื่อง

เหมือนกันกับโน้ตแต่ละตัวที่มีไม่เยอะมากแต่พอมาหมักและผัดเข้าด้วยกันก็ทำให้เกิดปฏิกิริยากลายเป็นเพลงที่แสนอร่อยเช่นกัน แค่มีวัตถุดิบโด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด ผัดกับซีอิ้วหนึ่ง เกลือสี่ น้ำตาลห้า เท่านี้ก็กลายเป็นเสียงที่ยัมมี่แล้ว

 

ก็ใครจะคิดล่ะว่าเสียงมีดสับผักจะทำให้เราเกิดความหิวได้ การใช้มีดหั่นแตงกวาก็ทำให้เกิดรูปทรงหลายแบบตัวโน้ตก็เช่นกันถ้าลองหั่นย่อยคอร์ดไปเรื่อยๆอย่างห้าของห้าของสี่ของสามไปเรื่อยๆก็ทำให้เกิดทำนองใหม่ขึ้นอีก

แต่ถ้าสับไก่ตัวใหญ่อย่างในร้านข้าวมันไก่ล่ะ เสียงอาจจะดูไม่อร่อยเท่าไหร่แต่พอเสิร์ฟก็หมดจานนะ เหมือนกับเสียงของคอร์ดหนักๆซักคอร์ดที่ฟังดูโหดจังแต่โดยรวมก็เท่ห์ดี

 

การซอยกระเทียมอย่างละเอียดเป็นเสียงที่ฟังแล้วสนุกจัง อย่างการเล่นstaccatoก็ทำให้เสียงน่าสนใจมากขึ้นเลยทีเดียว

 

เคยต้มจับฉ่ายหลังวันตรุษจีนกันไหม เริ่มจากเคี่ยวซี่โครงหมูอย่างช้าๆก่อนแล้วค่อยตามด้วยผักเจ็ดชนิด ยิ่งเคี่ยวสามวันน้ำซุปก็ยิ่งมันและกลมกล่อมมากขึ้นอย่างเพลงScherzo op.39 no.3นี้ตอนท้ายของเพลงก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้นยิ่งกว่าความกลมกล่อมอีก

 

การใช้เครื่องปรุงDolceอย่างน้ำตาลที่เหยาะลงไปในน้ำซุปอ่อนๆก็ทำให้รสชาติเข้มข้นขึ้นทันที แล้วถ้าลองใส่Glissandoลงไปในคอร์ดๆนึง ก็เป็นโน้ตประดับที่หวานเลยล่ะ

 

เสียงที่สดใสอย่างเมเจอร์ก็เปลี่ยนเป็นไมเนอร์เหมือนหม้อสุดท้ายของสุกี้เป็นช่วงเวลาที่น้ำซุปใกล้หมดสีก็เข้มขึ้น ดื่มด่ำไปกับความเข้มข้นของน้ำซุปพักหนึ่งก่อนที่จะกลับมาเติมน้ำซุปทำหม้อที่สองในเสียงสดใสของเมเจอร์

 

ปลาฉิกขั่กนึ่งบ๊วย บ๊วยเป็นตัวช่วยดับกลิ่นคาวแล้วให้รสเปรี้ยวตัดเลี่ยนอีกด้วย แล้วการนึ่งก็ทำให้ทั้งปลาและบ๊วยเข้ากันอย่างชุ่มฉ่ำ อย่างคอร์ดหนาๆในเพลงRhapsody op.119, Johannes Brahms ประโยคแรกของเพลงถ้าลองฟังดูจะรู้ว่าฉ่ำจริงๆ

 

การเร่งไฟเพื่อให้อาหารปรุงสุกเร็วขึ้นและเข้มข้นนั้นคล้ายๆกับการใส่accelerandoในช่วงที่กำลังเปลี่ยนคีย์เข้าไปในเพลง อย่างในมูฟแรกของPiano concerto,A minor op.16ของ Edvard Griegช่วงกำลังจะเปลี่ยนคีย์ดูเหมือนGriegต้องการที่จะอุ่นเพลงให้ร้อนขึ้นอย่างสุดซึ่งทำให้เพลงน่าตื่นเต้นมากขึ้นเข้าไปอีก

 

จากการที่รู้สึกว่ากระบวนการทำอาหารและสัมผัสของรสชาติอาหารบางครั้งก็คล้ายกับสัมผัสและเสียงของเปียโนเลยหาวีธีซ้อมเพลงแต่ละเพลงให้รู้สึกอร่อยและสนุกมากขึ้นเลยอยากนำเสนอมุมมองและการตีความเพลงเหล่านี้ออกมาผ่านความเป็นอาหารและดนตรีไปพร้อมๆกัน

bottom of page